ขอบคุณที่มา : thaieasyelec.com

RFID คืออะไร? ตอนที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ RFID

          RFID ชื่อเต็มๆ ก็คือ Radio Frequency Identification หรือการระบุข้อมูลสิ่งต่างๆ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งพวกเราทุกคนคงจะคุ้นเคยกับระบบนี้เป็นอย่างดี เพราะว่า RFID ถูกนำเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลากหลาย เพียงแต่ว่าเราจะรู้หรือไม่เท่านั้นเองว่าสิ่งเหล่านั้นใช้เทคโนโลยี RFID 

          ผมเชื่อว่าทุกๆ ท่านคงจะเคยไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ซึ่งตรงทางเข้าหรือทางออก เราจะต้องเดินผ่านเครื่องอ่านประเภทให้คนเดินผ่าน ซึ่งก็คือหนึ่งในเทคโนโลยี RFID ที่ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการขโมยสินค้า หลักการคือ จะติดป้าย (ศัพท์ทาง RFID เรียกว่า Tag) ไว้กับสินค้าที่ต้องการ Detect ซึ่งในเวลาซื้อปกติ ทางพนักงานจะดึงป้ายนี้ออก หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ป้าย เพื่อจะไม่ให้เกิดเสียงดังเวลาที่ผ่านเครื่องอ่าน ในกรณีที่มีการขโมยสินค้า ตัวป้ายนี้จะยังอยู่ติดกับตัวสินค้า เมื่อผ่านเครื่องอ่าน เครื่องจะส่งเสียงดังให้ทราบ

          อีกตัวอย่างหนึ่งนะครับ สำหรับท่านที่นิยมใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน ตั๋วของรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่มีลักษณะกลมๆ สีดำ เวลาเราจะเดินผ่านด่านเข้าไป เราก็เพียงนำเหรียญนี้ แตะไปตรงบริเวณที่อ่านบัตร จากนั้นที่กั้นก็จะเปิด ซึ่งเหรียญกลมๆ สีดำนั้น จริงๆแล้วก็คือ RFID ประเภท Tag โดยที่ด้านในจะมีตัวชิปและขดลวดที่ทำหน้าที่เป็นเสาอากาศเพื่อส่งสัญญาณอยู่นะครับ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะนึกภาพเกี่ยวกับ เทคโนโลยี RFID กันพอสมควรแล้วนะครับ ต่อไปเราจะลองมาดูกันนะครับว่าในระบบพื้นฐานของ RFID นั้นจะประกอบด้วยอะไรบ้าง

Tag

1.ป้าย (Tag, Transponder)

มาดูที่ส่วนแรกกันเลยนะครับ ป้าย (Tag, Transponder [transceiver-responder]) ดังที่ได้ยกตัวอย่าง ป้าย Tag ที่ติดสินค้ากันขโมย และตั๋วรถไฟฟ้าที่เป็นเหรียญกลมๆ สีดำไปแล้วนะครับ สิ่งเหล่านี้ก็คือ Tag ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ภายในจะประกอบด้วย เสาอากาศ และตัวไมโครชิป ในส่วนของตัวเสาอากาศนั้น จะทำหน้าที่รับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุระหว่าง ป้าย (Tag) กับเครื่องอ่าน (Reader) นอกจากนั้นแล้วยังสามารถทำหน้าที่สร้างพลังงานเพื่อป้อนให้กับไมโครชิปได้อีกด้วย

RFID Tag

ประเภทของป้ายอาร์เอฟไอดี (RFID)

1.1. RFID ชนิด Passive ป้ายชนิดนี้ทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งจ่ายไฟจากภายนอก เพราะภายในบัตรมีวงจรกำเนิดไฟฟ้าเหนี่ยวนำ เป็นแหล่งพลังงานในตัวอยู่แล้ว ระยะการอ่านข้อมูลได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้นไม่เกิน 1 เมตร (ขึ้นอยู่กับกำลังส่งของเครื่องอ่านและความถี่วิทยุที่ใช้) RFID ประเภทนี้มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา

1.2 RFID ชนิด Active ป้ายชนิดนี้ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟจากภายนอก เพื่อจ่ายไฟให้วงจรทำงาน ระยะการอ่านข้อมูลได้ประมาณ 100 เมตร แต่มีข้อเสียคือ ขนาดของป้ายหรือเครื่องอ่านมีขนาดใหญ่ อายุแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานประมาณ 3-7 ปี ชนิดบัตรภายในบรรจุแบตเตอรี่ขนาดเล็กไว้

นอกจากนั้นยังสามารถจัดรูปแบบป้าย RFID จากรูปแบบการอ่านเขียน มีอยู่ 3 รูปแบบดังนี้

            1. ป้ายที่ใช้อ่านและเขียนข้อมูลลงไปได้หลายๆครั้ง (Read-Write) 

            2. ป้ายที่ใช้เขียนได้เพียงครั้งเดียวแต่อ่านได้หลายครั้ง (Write-once Read-many)

            3. ป้ายที่ใช้อ่านได้เพียงอย่างเดียว (Read-only)

ป้าย RFID & Hardware

2. เครื่องอ่านป้าย (Reader, Interrogator)

โดยหน้าที่ของเครื่องอ่านป้ายคือ จะทำการเชื่อมต่อกับป้ายเพื่อทำการอ่านหรือเขียนข้อมูลลงในป้ายโดยใช้สัญญาณวิทยุ ซึ่งภายในเครื่องอ่านจะประกอบด้วย เสาอากาศ เพื่อใช้รับ-ส่งสัญญาณ, ภาครับ-ภาคส่งสัญญาณวิทยุ, วงจรควบคุมการอ่าน-เขียนข้อมูล และส่วนที่ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกันกับในส่วนของป้าย เครื่องอ่านนั้นจะมีชนิด และลักษณะรูปร่างหลากหลายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน เช่น แบบมือถือ, แบบติดหนัง จนไปถึงแบบขนาดใหญ่เท่าประตู

3. ฮาร์ดแวร์ หรือ ระบบที่ใช้ประมวลผล

มาถึงในส่วนสุดท้าย คือส่วน ฮาร์ดแวร์ หรือระบบที่ใช้ประมวลผล เป็นส่วนที่จะทำการประมวลผลข้อมูลที่ได้มาจากป้าย (Tag) หรือจะสร้างข้อมูลเพื่อส่งไปยังป้าย (Tag) หรือว่าจะเป็นที่เก็บระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบที่เรานำเอาไปใช้นะครับ ตัวอย่างอย่างเช่น ระบบการจัดการฟาร์มปศุสัตว์, ระบบคลังสินค้า, ระบบขนส่ง, ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ เป็นต้น

Product added to wishlist
Product added to compare.

iqitcookielaw - module, put here your own cookie law text